ข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานครกับภารกิจด้านการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

การจัดบริการทางการแพทย์ในภาวะวิกฤตฉุกเฉิน เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุบัติภัยและ ผู้เจ็บป่วยเป็นหนึ่งในนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงได้มีศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร(ศูนย์เอราวัณ) สังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์กลางในการประสานความช่วยเหลือด้านการแพทย์ในภาวะฉุกเฉินทุกประเภท รวมทั้งบริการรถพยาบาลฉุกเฉินพร้อมทีมกู้ชีพในระดับต่างๆเพื่อให้ความช่วยเหลือและลำเลียงผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสม นอกจากนั้นยังเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารทางด้านการแพทย์ประเภท Hotline ที่เรียกว่า “สายด่วนกู้ใจ” ซึ่งรับให้คำปรึกษา ปัญหา คลายเครียด บริการตลอด 24 ชั่วโมง
โดยศูนย์เอราวัณเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งในสังกัดสำนักการแพทย์ มีหน้าที่ต้องประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิ และเครือข่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เกิดเหตุอุทกภัยได้มีการรับแจ้งเหตุผ่านศูนย์เอราวัณ สายด่วน 1646, 199 กด 2 หรือ 1669 จำนวนทั้งสิ้น 50,225 สาย

ผลการดำเนินงานตามแผนรองรับสถานการณ์อุทกภัยของสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. 54 ถึงวันที่ 2 พ.ย. 54 เวลา 09.00 น.) ประกอบด้วย

  • รับแจ้งเหตุผ่านสายด่วนของศูนย์เอราวัณ โทร1646, 199 กด 2 หรือ1669 จำนวน 50,225 สาย
  • จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ จำนวน 242 ครั้ง มีผู้รับบริการจำนวน 7,301 ราย(ในพื้นที่เขตหนองจอก ลาดกระบัง บางคอแหลม สายไหม หนองแขม  ทวีวัฒนา  ราษฎร์บูรณะ  คลองสาน  บางกอกใหญ่ และจตุจักร)
  • แจกยาและเวชภัณฑ์ จำนวน 10,231 ชุด และยาที่จำเป็นอื่นๆ เช่น ยาน้ำกัดเท้า ฯลฯ จำนวน 6,975 ชิ้น
  • จัดบริการผู้ป่วยนอก (OPD) สำหรับผู้ประสบอุทกภัยจำนวน 12,554 ราย  แบ่งออกเป็น โรคไข้หวัด(1,759 ราย)  โรคผิวหนัง(686ราย)  อุจจาระร่วง(580ราย)  อุบัติเหตุ(502ราย)  ปัญหาสุขภาพจิต(407ราย)  ตาแดง(185ราย)   น้ำกัดเท้า(156ราย)  สัตว์มีพิษกัดต่อย(132ราย) และอาการอื่นๆทั่วไป
  • บริการผู้ป่วยใน (IPD) สำหรับผู้ประสบอุทกภัยจำนวน จำนวน 2,042 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยหนัก รับไว้ใน ICU จำนวน 127 ราย ไม่อยู่ใน ICU จำนวน 67 ราย และผู้ป่วยไม่หนัก จำนวน 1,848 ราย
  • การส่งต่อผู้ป่วย(Refer) ในภาวะวิกฤตจากโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานคร ในระบบ จำนวน 22 ราย (โดยประสานงานผ่านศูนย์เอราวัณ) , นอกระบบ จำนวน 105 ราย โดยประสานผ่านWar Room ของกระทรวงสาธารณสุขและศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวใช้วิธีการลำเลียงผู้ป่วยผ่านเวชศาสตร์การบิน จำนวน 7 ราย
  • บริการให้คำปรึกษาเพื่อคลายเครียดผ่าน “สายด่วนกู้ใจ” ตลอด 24 ชั่วโมง  โดยมีผู้โทรใช้บริการเฉลี่ยประมาณวันละ 3,000 สาย ทางหมายเลขโทรศัพท์ สายด่วน 1646 , 199 กด 2 หรือ 1669

นอกจากนั้น สำนักการแพทย์ยังร่วมมือกับอาสาสมัครเครือข่ายองค์กรทางการแพทย์จัดบริการทีม แพทย์เคลื่อนที่ไปให้บริการตรวจรักษาประชาชนผู้ประสบภัยในศูนย์พักพิงที่มีจำนวนผู้เข้าพักเกิน 500 คน โดยมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าไปดูแล และตรวจรักษาพยาบาล